ballvery.com
Menu

“ความรัก” คืออะไร?

 “ความรัก” คืออะไร ถ้าจะเพิ่มบทความดี ๆ อีกสักหมวด ที่เกี่ยวกับความรัก ก็คงต้องเริ่มด้วยเรื่องที่ว่า “ความรัก” คืออะไร กันก่อน เพราะหลังจากที่ชั่งใจอยู่นานว่า จะเขียนบทความเกี่ยวกับความรักดีไหม ก็สอบถามไปที่เพจ ผลตอบรับแบบไม่เป็นทางการคือ มีคนอยากอ่าน (หรือคิดไปเองไม่แน่ใจ) ครั้นพอถึงเวลาจริง ๆ เกือบคิดไม่ออกว่าจะเริ่มด้วยเรื่องอะไรดี แต่ก็คิดได้ว่าคงไม่มีอะไรดีไปกว่า ความรัก คืออะไร?..

         คำตอบเบื้องต้นคงไม่ต่างจากที่หลายคนคิด คือ ยากจะนิยามไปในมุมเดียว แนวเดียว หรือด้วยประโยคเดียว เพราะคำว่า ความรัก เองก็มีหลายรูปแบบ ทั้งปัจจัย บุคคล และสิ่งแวดล้อม กระทั่งว่า รักแท้ หรือ รักเทียม (รักลวง, รักปลอม, รักหวังผล)…
        แต่ถ้าสรุปแค่นั้น ก็ไม่รู้จะเขียนขึ้นมาทำไม (…เนอะ) จึงขอเขียนความหมายของความรักใน มุมมองหนึ่ง ด้วยประสบการณ์ที่ดี และไม่ดี พลาด หรือเข้าใจผิด ในเรื่องนี้มาพอสมควร ว่าในที่สุดแล้ว ความรักคืออะไร..
       หมายเหตุ “รัก” ในที่นี้กล่าวกันบนรูปแบบ คนรัก (คู่รัก) กัน จะเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกันก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ร่วมสายเลือด รักลูก รักพ่อแม่ พี่น้อง รักญาติ อันนั้น ละไว้ ในฐานที่เข้าใจ ไม่เช่นนั้นมันจะกว้างเกินประเด็นไป

1. สิ่งไม่มีเหตุผล – หรือจะบอกว่า เป็นเพียงเรื่องความรู้สึกก็ว่าได้ เพราะความรู้สึกก็ไม่ค่อยมีเหตุผล แต่ในคนที่คิดเยอะเขาก็อาจยืนยันว่า ล้วนมีเหตุผล เพียงแต่ซับซ้อนกว่าจะบรรยายได้ ก็อาจใช่ เพราะมันก็ไม่ได้หมายความว่า ไร้ซึ่งเหตุผลโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ไม่รู้จะอธิบายกันอย่างไรจนคล้ายไม่มีเหตุผล ที่สำคัญเราไม่อาจแน่ใจว่ามันใช่เหตุผลจริงหรือเปล่า ต่อให้เราบอกว่า เรารักคนนี้เพราะเหตุผลหนึ่งแบบจับต้องได้ เชื่อเถอะว่า มันไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคงมีคนอีกมากมายที่คุณสมบัติคล้ายกันนี้ ที่เราไม่เห็นรักเขาเลย..
        จะว่าไปแล้ว ในความมีเหตุผลตรงนั้นอาจเรียกว่า “ความชอบ” ได้ แต่ไม่น่าจะยังใช่ที่จะสรุปเป็น “ความรัก” ความไม่มีเหตุผลนี้ยังรวมถึงการกระทำต่าง ๆ เมื่ออยู่ในภาวะที่เรียกว่ารัก เช่นว่า เห็นหลังคาบ้านก็ดีใจ, ไปรอได้เป็นชั่วโมง หรือกลับกัน ช้าแค่ 5 นาที ก็โกรธเป็นเรื่องใหญ่ได้บนความรู้สึกที่บอกตัวเองว่า รักมาก..

         ในอีกด้านหนึ่งซึ่งอาจว่าด้วยแนววิทยาศาสตร์ เหตุผลของรักเป็นเรื่องเคมีในสมอง หรือสัญชาตญาณมนุษย์นั้น มันดูเป็นอีกด้านของมุมมอง ขอยกไปใน ข้อสุดท้าย (ข้อเสริม) ทีเดียว ข้ออื่น ๆ ขอคุยแบบพื้นฐานความเข้าใจแบบทั่ว ๆ ไปก่อนแล้วกัน เริ่มต้นที่ รักมันยากเกินไปที่จะให้เหตุผล..

2. สิ่งที่ยากจะเข้าใจจริง – อาจเป็นเหตุให้มีคนกล่าวว่า “รักไม่มีจริง” ด้วยต้นตอความรักเกิดได้จากหลายสิ่ง หลายปัจจัย และต่างคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนี้ถ้าจะหาคำตอบแบบความสำเร็จรูปนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ และในสถานการณ์ที่แตกต่าง เราอาจมีมุมมองความรักที่เปลี่ยนไป หรือเกิดความรักขึ้นได้เสมอ เช่น เพียงการได้ใกล้ชิดใครคนหนึ่ง, ความรู้สึกบนสถานการณ์พาไป, แม้กระทั่งการยั่วยุจากเพื่อน ๆ


        มุมมองความรักยังเปลี่ยนไปได้จาก ประสบการณ์ที่ได้รับ ความรักในช่วงวัยก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด เหล่านี้แม้นี่จะดูเหมือนสิ่งที่อธิบายได้ แต่หากลงลึกในรายละเอียดเราก็ต้องยอมรับว่า ณ ช่วงเวลานั้น เราไม่เคยเข้าใจมันได้จริง หรือมั่นใจว่าเข้าใจมันแล้ว แม้กระทั่งตอนนี้เราก็อาจจะเข้าใจในความรักผิด ๆ อยู่ก็ได้ เราอาจอยู่กับใครสักคนโดยแท้จริงเราไม่ได้รักเขา เป็นเพียงมายาคติบางอย่างที่เราคิดว่าเรารัก หรือ เราไม่ต้องการความรักตอนนี้ ต้องการเพื่อน ต้องการแค่บางสิ่งบางอย่างจากคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็ตอบแทนกันไม่ได้อีกว่า ตกลง “คือรักหรือเปล่า” อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ที่แม้เกิดจากตัวเราเองแต่ก็ยากจะเข้าใจมันได้จริง

3. สิ่งที่ไม่สมดุล – ไม่มีวันที่คู่ใดจะเติมเต็มกันได้สมบูรณ์จริง ประโยคประทับใจจากหนังเรื่องโรแมนติกเรื่อง Jerry Maguire ประโยคหนึ่งที่ตัวเอกกล่าวว่า “You complete me” (คุณเข้ามาเติมเต็มฉัน) ถ้าตามเรื่องราวจากหนัง ตอนได้ฟังแล้วก็รู้สึกดี แต่หากมองอีกที มันก็เป็นแค่ช่วงเวลา และสถานการณ์พาไป เพราะคำว่าเติมเต็มของสถานการณ์บางคน บางที อาจเป็นอีกประโยคของหนังที่พูดว่า “Show me the money” (เอาเงินมากองให้ฉัน) แทนก็ได้ ฟังดูแง่ร้าย แต่ชีวิตคนเรามีปัจจัยขาด/เต็ม ไม่เท่ากัน ความต้องการของเราเองก็มีความยืดหยุ่น ความชอบ/ไม่ชอบ ก็เปลี่ยนแปลงได้ และแน่นอนไม่ได้หมายความแค่เรื่องเงิน..
        แล้วบางคู่อยู่รอดกันได้อย่างไร นั่นเพราะส่วนใหญ่ต่างยอมรับในความไม่สมดุลต่างหาก ต่างฝ่ายไม่อาจเติมเต็มหรือให้ทุกสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการได้ หากแต่ยอมรับ ลดทอน ปล่อยผ่าน ละทิ้งความเป็นตัวตนของตนลงไปบ้าง มันก็จะเหลือแต่ด้านดีของอีกฝ่ายทำให้ “ประคอง” คู่กันไปได้ อาจเรียกว่ารักษา “ระดับความรัก” ให้คงอยู่ แต่หากไม่ยอมรับ สิ่งที่เรียกว่ารัก ย่อมเปลี่ยนไป.. ในที่สุด

        เหมือนที่ผมยกตัวอย่างเล่น ๆ เรื่องเงิน รู้หรือไม่ว่ามีสถิติชี้ไว้ คู่รักหย่ากันด้วยเหตุผลนี้มากที่สุดในอเมริกา (ขออภัยไม่มีอ้างอิง อ่านมาหลายปี เจอในหลายเล่ม มีสถิตินี้โผล่มาเสมอ ๆ ) นอกจากนี้เมื่อรักแล้วยังมีเรื่องของ สถานะทางสังคม รูปร่าง หน้าตา การวางตัว การใช้ชีวิตต่าง ๆ นา ๆ แม้กระทั่ง Sex ที่จะเข้ามาทำให้เรามองว่า “ไปด้วยกันไม่ได้” ถ้าพูดเหมือนดาราหน่อยก็บอกว่า “ไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน” ซึ่งบนความเป็นจริงมันก็ไม่มีวันเหมือนกัน 100% อยู่แล้ว ทั้งนี้การพยายามเปลี่ยนเขา หรือหลอกตัวเองว่าไม่ต้องการบางสิ่งจากอีกฝ่าย สุดท้ายก็มักจะไปไม่รอด


4. สิ่งดี ๆ ที่ทำเราแย่ได้ – มีเพียงน้อยคนนักที่มองว่า ความรักเป็นเรื่องไม่ดี บ้างก็เรียนรู้ในมุมที่ว่า รักมีทั้งดี และร้าย คำไทยโบราณที่ว่า “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” อันมีความหมายว่า ถ้ารักดีก็จะสบายเสมือนงานเบา แต่รักไม่ดี ก็ต้องเจองานหนัก ถ้าเป็นจริงก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีรักไหนที่สบายที่สุด ไม่ต้องแบกอะไรเลย อย่างไรก็ต้องเจอ และผมเชื่อว่า เจอในทุก ๆ ความรัก..
         แม้เรื่องนี้จะไม่ได้พูดแง่รักครอบครัว ที่หลายคนมองว่าเป็นรักที่บริสุทธิ์ แต่ถึงใช่ก็ยังต้องเจอช่วงเวลาแย่ ๆ ได้ทั้งนั้น แต่ที่สุดแล้ว เรามองโดยรวมว่า มันสุขหรือทุกข์มากกว่ากัน นี่ก็อาจคล้ายข้อที่แล้ว ที่ไม่ว่าจะคิด จะทำได้ดี เลือกได้ดี มีแนวคิดที่ดีเช่นไรในเรื่องความรัก แต่สักวันเราก็ต้องมีวันที่แย่ กับเรื่องนี้ได้ไม่มาก ก็น้อย ในสมัยที่ยังชอบเป็นศิราณี เป็นที่ปรึกษาให้ใครมากมาย ทำให้พบว่า ฉากหน้าของชีวิตรักใครหลายคน ไม่ได้เป็นเหมือนที่คนทั่วไปคิด (แม้แต่ตัวศิราณีเอง) เพียงแต่ว่ามันคือช่วงเวลาที่ทุกคนต้องผ่าน และจะวางเสา วางจั่ว นั้นลงได้ไหม เพราะแม้ว่าจะแบกเสา แต่ถ้าต้องแบกไปไม่ไกล ถึงที่วางลงได้ก็สบาย และคล้ายกันแบกจั่วถึงจะเบา แต่หากต้องแบกไปไกล ๆ โดยไม่วาง วางลงไม่ได้ เราก็คงแย่ ไม่แพ้กัน…


5. สิ่งที่ไม่ควรคาดหวัง – คงพอเห็นความหมายไปบ้างใน รักคืออะไร แม้อาจไม่ใช่ความหมายโดยตรง แต่น่าจะเข้าใจได้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรคาดหวัง แต่ก็ห้ามไม่ให้หวังยาก ในความเป็นจริงหลายคนรู้ว่า ไม่ใช่เรื่องเข้าใจง่าย (ข้อ 2) เป็นสิ่งที่ไม่สมดุล (ข้อ 3) แต่ก็มีความต้องการตรงนั้น รู้ว่าทำเราแย่ได้ (ข้อ 4) แต่ก็ไม่มีทางที่ใครอยากจะเจอและอยากยอมรับในมุมแย่บ่อย ๆ เราล้วนคาดหวังไปในทางที่ดีขึ้น ผมไม่ได้คิดจะกรอบความหมายว่า รักต้องมี หรือต้องเป็นตาม 1-2-3-4 แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความคาดหวัง และไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อมันพัง “เรายังเรียกมันว่ารักหรือเปล่า” ถ้าวันหนึ่งมันไม่เหลือเป็นรักแล้ว ก็แสดงว่าสิ่งที่เขียนมาถูกต้อง ว่ารักหวังไม่ได้ แต่ถ้ายังเหลืออยู่ คิดว่าเป็นรักอยู่ นี่ก็คือคุณสมบัตินี้เช่นกัน ไม่ควรไปคาดหวังถ้ามันต้องพัง มันก็ยังเป็นรักต่อไป.. (ไม่เข้าใจลองอ่านข้อนี้อีกรอบ)
6. สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ หรือไม่ก็ควรเปลี่ยนแปลง – เรามักพูดกันว่า รัก เป็นเรื่องของคนสองคน ถ้าเป็น 3 หรือมากกว่าล่ะ จะเรียกว่าไม่ใช่รักได้ไหม หากจะให้คำตอบ อาจดูเป็นข้อสรุปในมุมของเราเองฝ่ายเดียว เราอาจจะนิยามว่า “รักไม่เหมือนกัน” มันก็เป็นได้ รักคนนี้ในแบบหนึ่ง และรักคนนี้ในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะใช่หรือไม่ใช่ คงไม่ขอตัดสิน อาจเป็นเพียงความต้องการบางอย่างจากแต่ละคนก็เป็นได้เช่นกัน แต่ถ้าว่ากันด้วยเรื่องของ “คนสองคน” จากทุกข้อที่กล่าวมาเราก็พบว่า แค่การ “มีรัก” ระหว่างสองคนแล้วให้รักนั้น “คงอยู่” ไม่ใช่เรื่องง่าย เคยรัก ก็เลิกรัก หรือจากรักกลายเป็นไม่ใช่รัก เชื่อว่าเกิดขึ้นทุกชั่วโมงบนโลก “ไม่ใช่มีแค่เราที่เสียใจ” ไม่ต่างจากมีคนเกิดและคนตาย เช่นนี้ แค่คน 2 คนยังอาจไม่แน่ใจ เมื่อเป็น 3-4 คนหรือมากมาย แน่หรือว่าทุกปัจจัยมันจะใช่ความรัก หรือรักษามันได้เมื่อมองด้านที่ทำให้รักคงอยู่..
       ไม่ว่าจะเรียกรักนั้นว่าอย่างไร มันย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ไม่มีรักใดคงอยู่ถาวร เหมือนทุกสิ่งบนโลก มากขึ้น น้อยลง หรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็น แต่สภาวะที่มีต่อกันในรักนั้นมันต้องมีการปรับไปตามเวลา (หรือจะเรียกว่า เปลี่ยน ก็ได้ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนไปจากกัน) ความหมายก็คือต้องเปลี่ยนแปลง เพราะในทุกชีวิตต้องดำเนิน เราไม่อาจเดินกุมมือกันได้ตลอดเวลา นอนกอดก่ายกันทั้งวันทั้งคืนตลอดไป แม้ในช่วงภาวะหนึ่งของใครหลายคนอยากให้เป็นเช่นนั้น มันจึงเป็นเหตุผลว่า รัก มันก็ต้องพร้อมที่จะยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ใช่เปลี่ยนไป


7. ความรักไม่ใช่เรื่องง่าย – นอกจากทุกข้อที่กล่าวมาเราก็เห็นว่ามันยากอยู่แล้วนั่นก็ใช่ แต่ไม่ได้จะเขียนวนซ้ำมุมเดิม ๆ เพราะที่ว่ายากความหมายหนึ่ง ซึ่งหลายคนล้วนมีประสบการณ์ คือเมื่อเคยมี “รักแรก” แล้ว โอกาสน้อยนักที่จะเป็น “รักเดียว” ไปตลอดชีวิต บางคนพบว่ามันยังไม่ใช่ บางคนพบว่ามันใช่.. แต่กับเราฝ่ายเดียว กับเขาไม่ใช่ เราล้วนได้ประสบการณ์กับทุกการมีรักเสมอ ซึ่งจะยังเรียกประสบการณ์นั้นว่า “รัก” อยู่ไหม ก็ตามแต่กันไป..
         แต่ที่แน่ ๆ นี่คือสิ่งยืนยันว่า มันไม่ง่ายเลย เพราะถ้าง่ายทุกคนคงตัดสินใจในรักใดแล้ว คงสำเร็จสมหวังกันไปหมด ถ้าประเมินเป็นสัดส่วนหรืออัตราความสำเร็จว่ากันจริง ๆ คงไม่ถึงครึ่งเป็นแน่ เพราะถ้าชีวิตเราเคยมีรัก (หรือคิดว่ารัก) เกิน 2 คน ก็เท่ากับว่าไม่ถึงครึ่งแล้ว เช่นนี้จึงไม่น่าจะผิดที่บอกว่า “รักไม่ใช่เรื่องง่าย” มันไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีรูปแบบบังคับ แถมยังสรุปแทนใครไม่ได้อีกด้วยและมันยากที่จะหาคำตอบว่า ทำไม “รักแล้วยังไม่พอ” ในเมื่อแรกเริ่มต่างฝ่ายต่างพูดได้เต็มปากว่ารัก แต่ไม่นานก็เปลี่ยนไป กระทั่ง ในบางคู่ที่บอกว่าเลิกกัน แต่ “ยังรัก” อยู่ ยิ่งน่าแปลกใจ ในเมื่อ ยังรักทำไมต้องเลิก? ผมไม่สรุปว่ามันถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ แต่สรุปได้แน่ ๆ ว่า “ความรักนี้ ไม่ง่ายเลย”

8. (ข้อเสริม) สัญชาติญาณ และ เคมีในสมอง – คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกันตามข้อเท็จจริง สัญชาตญาณ นั้นมีผลต่อการสืบพันธ์ มีส่วนกระตุ้นฮอร์โมนให้เกิดความต้องการสืบพันธุ์ แต่ก็อย่างที่ทราบดีในมนุษย์ที่พัฒนามาจนซับซ้อนนั้น ดันมีสมองใหม่ Neocortex ที่ก้าวไกลแยกมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น จึงทำให้รักมากกว่าแค่จะสืบพันธุ์ แบบตรง ๆ และจะว่าไป บางครั้งไม่รักก็ยังอยากสืบพันธุ์ หรือรักแต่ไม่ได้คิดสืบพันธุ์มันก็มีอีก รักในที่นี้จึงเป็นคนละเรื่องกัน…
        หลายข้อมูลจากงานวิจัย บทความวิจัย ที่เกี่ยวกับเคมีในสมองสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ถ้าจะว่าด้วยความรักแล้ว จากที่อ่าน ๆ มาก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ทำนองว่า ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน กล่าวคือ เมื่อรักเคมีจึงเกิด หรือเคมีเกิดก่อน แต่ต้องยอมรับว่าเคมีมีผล แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า กลไกร่างกายและความคิดจิตใจเป็นส่วนเดียวกัน หรือเชื่อมโยงกันด้วยสารเคมีของสมอง เช่นว่า เราทำให้คนมีความสุขได้ทันทีด้วยเคมีบางตัว ที่ไม่ขออธิบายให้ซับซ้อน แต่มันก็ซับซ้อนอยู่ดี ที่เราจะแยกแยะว่า รักคืออะไรในกายและสมองเรา แล้วเราจะบังคับเคมีเหล่านี้ได้อย่างไรเพราะที่สุดแล้วมันไม่ใช่เรื่องง่าย หรือจะหาเหตุผลมาจบได้ง่าย ๆ แม้จะทำได้แต่ก็เกือบเข้าขั้นเป็นไปไม่ได้คล้าย ๆ กับที่คุณจะต้องมีสุขตลอดเวลา ด้วยสารเคมีตัวหนึ่ง…

        ดังนี้แล้วถ้าจะอธิบายรัก ในมุมนี้ ความหมายรัก นอกจากยากจะเข้าใจแล้ว ยังยากที่จะทำอะไรกับมันได้ รวมถึงอาจงงกว่าเก่าก็ได้ว่า เราต้องการอะไร ในคำว่า “รัก” และหากพยายามไปเข้าใจในเชิงวิทยาศาสตร์ขนาดนี้ บางทีคุณก็ไม่รู้สึกว่า “รัก” เป็นสิ่งหนึ่ง แต่จะมองว่ามัน “ไม่มีอะไร” ไม่มีเหตุผล (เหมือนข้อ 1 อยู่ดี) ไม่สนใจ หรือไร้รัก ไปได้เลย เพราะมันไม่มีอะไรน่าสนใจอีกแล้ว เป็นแค่ปฏิกิริยาสมอง…


         สรุป – (ในมุมมองบทความนี้) ที่สุดแล้ว รัก อาจเป็นเพียงคำ คำหนึ่ง ที่มีความหมายเป็นตัวแทนใน “หลายสิ่งหลายอย่าง” ทั้งของ “ความรู้สึก” ที่อธิบายตรง ๆ ไม่ได้ ทั้ง “การกระทำ” ที่อาจไม่เป็นตัวของตัวเอง “การแสดงออก” ในสิ่งที่ “มีเหตุผล และไม่มีเหตุผล” ไปจนถึง “หลาย ๆ ปฏิกิริยาเคมีทางสมอง” ที่กระตุ้นให้เราเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา รักจึงเป็นมากกว่าอะไรที่ตอบกันสั้น ๆ

         แต่สิ่งสำคัญคือ เรารู้หรือไม่ว่า “เราต้องการอะไร” จากสิ่งนี้ หากเรารู้ เราอาจเลือกรับแต่สิ่งดีที่เราต้องการ เลือกคนที่เหมาะสม เลือกอยู่กับมันได้อย่างดี แต่หากไม่เคยรู้ว่าต้องการอะไรจากมัน(อย่างแท้จริง) เพียงแต่พยายามหาความหมาย หรือความต้องการของตนอยู่ไม่มีวันจบสิ้น โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราก็จะได้รับแต่ส่วนร้าย ๆ จากรัก จากคุณสมบัติแต่ละข้อที่กล่าวไป คงอธิบายให้ได้ประโยชน์เท่านี้ครับ..


โพสต์โดย : Kingdom Kingdom เมื่อ 11 ก.ค. 2567 16:50:44 น. อ่าน 32 ตอบ 0

facebook